วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551

กายภาพบำบัดในผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรัง(COPD)

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease : COPD)
เป็นกลุ่มโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของทางเดินหายใจอย่างช้า ๆ จนกระทั่งมีการตีบแคบลงอย่างเรื้อรัง ไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติ โดยที่ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หายใจลำบาก และมีเสมหะมากร่วมด้วย ซึ่งโรคนี้จะมีอาการและอาการแสดงคล้ายกับโรคทางระบบทางเดินหายใจหลายโรค เช่นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพองและหอบหืด เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของโรคมากขึ้นจึงมีผู้ให้คำจำกัดความ ของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังว่าเป็นโรคเรื้อรังที่หลอดลมมีการอุดกั้นเพิ่มมากขึ้นอย่างช้าๆ จากผลการเกิดถุงลมปอดโป่งพองและทางเดินหายใจเล็ก ๆ ในปอดมีขนาดเล็กลงอย่างถาวร (ปราณี ทู้ไพเราะ, 2543 : 101)
ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้มากขึ้นเนื่องจากประชากรมีอายุยืนขึ้น สิ่งแวดล้อมและอากาศเป็นพิษมากขึ้น มีผู้สูบบุหรี่มากขึ้นตั้งแต่อายุน้อยๆ ซึ่งระยะเวลาในการสูบบุหรี่ที่มากขึ้นทำให้ปอดถูกทำลายมากขึ้นไปด้วย ความยืดหยุ่นของปอดลดลง มีการอักเสบของทางเดินหายใจเมื่อเป็นมากขึ้น ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอมีอาการหายใจลำบาก หอบเหนื่อยง่าย ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เชื่อว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ จะเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 15 จึงคาดได้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วย COPD ประมาณ 1.5 ล้านคน โดยร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเกิดจากการสูบบุหรี่ อีกร้อยละ 5 ที่เหลือ เกิดจากมลภาวะทางอากาศ , โรคที่เกิดจากการทำงาน เป็นต้น


อาการ
อาการที่พบทั่วไป คือไอและมีเสมหะเรื้อรัง โดยเฉพาะ ในตอนเช้า หลังตื่นนอน ร่วมกับ มีอาการหอบเหนื่อย เวลาออกแรง ซึ่งเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้ง เมื่อเป็นหวัด หรือได้รับสารระคายเคือง หลอดลมมากๆ จะมีอาการ ไอ แน่นหน้าอก และหอบเหนื่อย เพิ่มมากขึ้นยาหลักที่ใช้ ในการรักษา คือ ยาขยายหลอดลม ซึ่งมีทั้งชนิด รับประทาน และชนิดสูดเข้าทางปาก ในรายที่มีเสมหะมาก และผู้ป่วยไอออกเองได้ไม่ดีพอ แพทย์อาจให้ ยาช่วยขับเสมหะร่วมด้วย
กลุ่มผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรังส่วนใหญ่จะมีปัญหาด้านการหายใจโดยเฉพาะอาการหอบเหนื่อย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ สาเหตุของการหายใจหอบเหนื่อยนั้น เนื่องจากพยาธิสภาพของโรค ทำให้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซลดลง ดังนั้นการทำกายภาพบำบัดโดยการฝึกหายใจที่ถูกวิธีและการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบหายใจ จึงมีความสำคัญมาก โดยมีวิธีการออกกำลังซึ่งแบ่งเป็นระยะต่าง ๆ ดังนี้

ระยะแรก : เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อยมาก จะมีวิธีการออกกำลังดังนี้คือ

1.การฝึกหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกระบังลม (Diaphragmatic breathing exercise) : เพื่อเพิ่มการขยายตัวของปอดทำให้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซได้เพิ่มขึ้น


- นอนหงายในท่าที่สบาย วางมือลงบนหน้าท้อง หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ ทำช้า ๆ 10 ครั้ง ต่อรอบ วันละ 10 รอ

2.การฝึกหายใจแบบหน่วงเวลา ( Purse lip breathing exercise ) : เพื่อลดอาการตีบแคบของท่อหลอดลม

- นอนหงายในท่าที่สบาย วางมือลงบนหน้าท้อง หายใจเข้าทางจมูกให้ท้องป่อง หายใจออกทางปากห่อปากเล็กน้อย ค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกมาช้า ๆทำ 10 ครั้ง ต่อรอบ วันละ 10 รอบ

3.การฝึกหายใจเพื่อเพิ่มการยืดขยายทรวงอก ( Chest mobilization exercise ) : เพื่อเพิ่มการขยายตัวของทรวงอกทำให้ปอดสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นและมีการแลกเปลี่ยนก๊าซได้เพิ่มขึ้น

- นอนหงายในท่าที่สบาย หายใจเข้าทางจมูก ท้องป่อง พร้อมกับยกแขนทั้ง 2 ข้างขึ้น หายใจออกทางปากท้องแฟบลงพร้อมกับเอาแขนลงข้างลำตัว ทำช้า ๆ 10 ครั้งต่อรอบ วนละ 10 รอบ

4.การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ( Strengthening exercise ) : เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายช่วยให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองและปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น

- นอนหงายตั้งศอกขึ้นเอามือแตะไหล่ทั้ง 2 ข้าง ออกแรงเหยียดศอกชูแขนขึ้นในแนวตั้งฉากกับพื้นแล้วเอาแขนลง ทำ 10 - 20 ครั้งต่อรอบ วันละ 5 - 10 รอบ สามารถเพิ่มหรือลดจำนวนครั้งได้ตามความสามารถของผู้ป่วย

- นอนหงายชันเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง อกกแรงยกก้นขึ้นให้พ้นพื้นค้างไว้ 5 วินาที โดยที่ผู้ป่วยฝึกหายใจในท่าที่ 2 ร่วมด้วย (หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกเป่าลมออกทางปาก) ทำ 10 - 20 ครั้งต่อรอบ วันละ 5 - 10 รอบ สามารถเพิ่มหรือลดจำนวนครั้งได้ตามความสามารถของผู้ป่วย

ระยะที่ 2 : เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อยลดลง สามารถออกกำลังในท่าต่าง ๆของระยะที่ 1 ได้ดีแล้ว ก็ให้เริ่มการออกกำลังในระยะที่ 2 ดังนี้

1. การฝึกหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกระบังลม ( Diaphragmatic breathing exercise ) : ออกกำลังเช่นเดียวกับระยะที่ 1 แต่เปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่านั่งห้อยขาข้างเตียง

2. การฝึกหายใจแบบหน่วงเวลา ( Purse lip breathing exercise ) : ออกกำลังเช่นเดียวกับระยะที่ 1 แต่เปลี่ยนจากท่านอนหงายเป็นท่านั่งห้อยขาข้างเตียง

3. การฝึกหายใจเพื่อเพิ่มการยืดขยายทรวงอก ( Chest mobilization exercise ) : การออกกำลังจะต่างจากระยะที่ 1 โดยแยกออกเป็น 2 ท่าคือ

- นั่งห้อยขาข้างเตียง หายใจเข้าทางจมูก ให้ท้องป่อง พร้อมกับยกแขนขึ้นทางด้านหน้าจนเหนือศรีษะ หายใจออกทางปาก ท้องแฟบ เอาแขนลงข้างลำตัวช้า ๆ

- นั่งห้อยขาข้างเตียง หายใจเข้าทางจมูก ให้ท้องป่อง พร้อมกับกางแขนทั้ง 2 ข้างขึ้นจนเหนือศรีษะ หายใจออกทางปากท้องแฟบ เอาแขนลงวางข้างลำตัว ช้า ๆ

4.การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ( Strengthening exercise ) : โดยออกกำลังเพิ่มจากระยะที่ 1 ดังนี้คือ

- นั่งห้อยขาข้างเตียง ออกแรงเตะขาขึ้น กระดกข้อเท้าค้างไว้ 10 วินาที ร่วมกับการฝึกหายใจแบบหน่วงเวลา ทำข้างละ 10 - 20 ครั้ง วันละ 10 รอบ สามารถเพิ่มหรือลดจำนวนครั้งได้ตามความสามารถของผู้ป่วย

ระยะที่ 3 : เมื่อผู้ป่วยสามารถออกกำลังในระยะที่ 2 ได้ดีและไม่มีอาการหอบเหนื่อย ซึ่งจะเพิ่มวิธีการออกกำลังดังนี้

1.การฝึกหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกระบังลม ( Diaphragmatic breathing exercise ) : ออกกำลังเช่นเดียวกับระยะที่ 2 แต่เปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายืน

2.การฝึกหายใจแบบหน่วงเวลา ( Purse lip breathing exercise ) : ออกกำลังเช่นเดียวกับระยะที่ 2 แต่เปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายืน

3.การฝึกหายใจเพื่อเพิ่มการยืดขยายทรวงอก ( Chest mobilization exercise ) : ออกกำลังเช่นเดียวกับระยะที่ 2 แต่เปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายืนทั้ง 2 ท่า และเพิ่มท่าออกกำลังดังนี้

- ยืนข้างเตียงมือขวาท้าวสะเอวไว้ เอียงตัวไปทางขวาพร้อมกับกางแขนซ้ายขึ้นหายใจเข้าทางจมูกท้องป่อง หายใจออกทางปากท้องแฟบพร้อมกับเอาแขนลงข้างลำตัว กลับมายืนตัวตรง ทำ 10 ครั้งต่อรอบ วันละ 5 รอบ เมื่อครบแล้วก็เปลี่ยนเป็นเอียงตัวทางด้านซ้าย ( ยกแขนขวา ฝึกหายใจเช่นเดียวกับด้านขวา ) ทำ 10 ครั้งต่อรอบ วันละ 5 รอบ

4.การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ( Strengthening exercise ) : มีท่าออกกำลังดังนี้

- ยืนข้างเตียง มือทั้งสองข้างท้าวสะเอวไว้ หายใจเข้าทางจมูกท้องป่อง หายใจออกทางปากท้องแฟบ ทำพร้อมกับการยกขาสลับข้างกัน ทำ 10 - 20 ครั้งต่อรอบ วันละ 5 รอบ จำนวนครั้งสามารถเพิ่มหรือลดได้ตามความสามารถของผู้ป่วย

- ยืนข้างเตียงมือทั้งสองข้างท้าวสะเอวไว้ หายใจเข้าทางจมูกท้องป่อง พร้อมกับย่อเข่าลงประมาณ 45 องศา หายใจออกท้องแฟบ พร้อมกับยืดเข่าขึ้นตัวตรง ทำ 10 - 20 ครั้งต่อรอบ วันละ 5 รอบ จำนวนครั้งสามารถเพิ่มหรือลดได้ตามความสามารถของผู้ป่วย

ระยะที่ 4 : เป็นระยะที่ผู้ป่วยออกกำลังในระยะที่ 3 ได้ดีแล้วและไม่มีอาการหอบเหนื่อย จึงเริ่มมีการออกกำลังกายแบบประยุกต์ โดยใช้อุปกรณ์ช่วยเช่น ไม้พลอง หรือ ลูกตุ้มน้ำหนัก ( Dumbells ) เป็นต้น โดยทุกท่าจะทำร่วมกับการฝึกหายใจได้ ทำท่าละ 10 - 20 ครั้งต่อรอบ วันละ 1 - 2 รอบ มีท่าออกกำลังดังนี้คือ

- ยืนยกแขนไปด้านหน้า
- ยืนงอศอก เหยียดศอก
- ยืนเอียงตัวไปทางซ้าย - ขวา
- ยักไหล่พร้อมกับซอยเท้า
- กำมือ - แบมือ พร้อมกับซอยเท้า
- ยกแขนขึ้น - ลงพร้อมกับซอยเท้า
- งอศอก - เหยียดศอก พร้อมกับซอยเท้า
- ยืนเขย่งปลายเท้าขึ้น - ลง พร้อมกับยกแขนขึ้น - ลง
- ยืนเขย่งปลายเท้าขึ้น - ลง พร้อมกับงอศอก - เหยียดศอก